• ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

ชื่อหลักสูตร

(ภาษาไทย): หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
(ภาษาอังกฤษ): Bachelor of Engineering Program in Computer Engineering (International Program)

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  • ผลิตบัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ให้มีทักษะ 5 ด้าน ได้แก่ การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ตระหนักในคุณธรรมและจริยธรรม มีทักษะทางสังคม และเป็นนักปฏิบัติ
  • ผลิตบัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ให้มีความรู้ด้านสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี ตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากเมื่อก้าวสู่สภาพประเทศอุตสาหกรรม
  • เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากต่างประเทศ
  • เพื่อให้บริการวิชาการด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ
  • เพื่อปลูกฝังนักศึกษาให้มีจิตสำนึกในการใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร

วัตถุประสงค์ของหลักสูตรจะบรรลุได้โดยที่บัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรมีผลลัพธ์การเรียนรู้ดังนี้

  1. ออกแบบและสร้างระบบที่มีคอมพิวเตอร์เป็นฐาน โดยบูรณาการและเชื่อมโยงความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

    • ระบุและแก้ปัญหาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยบูรณาการความรู้ในสาขาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และศิลปศาสตร์
    • ออกแบบและสร้างระบบฮาร์ดแวร์
    • ออกแบบและสร้างซอฟต์แวร์ โปรแกรมประยุกต์ และฐานข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่หลากหลายได้
    • ออกแบบ ติดตั้ง และบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายได้
    • ออกแบบและสร้างแบบจำลองเพื่อประมวลผล วิเคราะห์ และสรุปผลข้อมูลในรูปแบบสื่อประสมได้
  2. สามารถใช้เครื่องมือและทักษะทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ แก้ปัญหา และตัดสินใจ

    • สามารถเลือกใช้ความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยในการตัดสินใจ
    • สามารถเลือกใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา
    • สามารถเลือกใช้ภาษา โครงสร้างข้อมูล ทดสอบ แก้ไข และบำรุงรักษาซอฟต์แวร์
  3. สามารถปฏิบัติงานโดยยึดหลักสุขภาพ คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ มีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งสังคม สาธารณะ และสิ่งแวดล้อม

    • สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบและปรับตัวตามวัฒนธรรมขององค์กร โดยยึดหลักสุขภาพ คุณธรรม และมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งสังคม สาธารณะ และสิ่งแวดล้อม
    • สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ได้
  4. สามารถสื่อสาร นำเสนอผลงานและเขียนรายงาน องค์ความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ฟังหรือผู้อ่านเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    • สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนกับบุคคลทั่วไปและเชิงวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • สามารถสื่อสารภายในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดชีวิต มีภาวะผู้นำและทัศนคติเชิงบวกในการทำงานในสายวิชาชีพตน

    • สามารถค้นหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต
    • ทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบอย่างมีภาวะความเป็นผู้นำ
    • ทำงานด้วยทัศนคติเชิงบวกและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง

โครงสร้างหลักสูตร

  • หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 31 หน่วยกิต
  • หมวดวิชาเฉพาะ 93 หน่วยกิต
    • วิชาแกนทางวิศวกรรม 33 หน่วยกิต
    • วิชาเฉพาะด้าน 48 หน่วยกิต
    • วิชาเลือก 12 หน่วยกิต
  • หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต

รวม 130 หน่วยกิต

ระยะเวลาการศึกษา

ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรเต็มเวลา โดยปกติใช้เวลา 4 ปีการศึกษา และไม่เกิน 8 ปีการศึกษา

อัตราค่าเรียน

  • ค่าบำรุงการศึกษาเหมาจ่าย 70,000 บาท/ต่อภาคการศึกษา หรือ 140,000 บาท/ปีการศึกษา
  • ค่าลงทะเบียนหน่วยกิตละ 2,000 บาท (ในภาคการศึกษาฤดูร้อน)
  • ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 560,000 บาท/คน

วิชาเลือกในหลักสูตร

  • วิชาแบบจำลองคณิตศาสตร์ การคำนวณ และการเรียนรู้จากข้อมูล มีทั้งหมด 9 วิชา
  • วิชาวิธีการและระบบซอฟต์แวร์ ระบบโต้ตอบ และหุ่นยนต์ มีทั้งหมด 9 วิชา
  • วิชาระบบฐานข้อมูล มีทั้งหมด 4 วิชา
  • วิชาการประมวลผลสื่อประสมและการสร้างภาพเคลื่อนไหว มีทั้งหมด 6 วิชา
  • วิชาเลือกแบบหัวข้อพิเศษ มีทั้งหมด 4 วิชา